โบราณว่าไว้…“โจรขึ้นบ้านสิบ ครั้ง ไม่เท่ากับไฟไหม้บ้านครั้งเดียว” เพราะทุกอย่างวอดวายไปกับกองเพลิงทั้งหมด
สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้กว่าร้อยละ 80 เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และต้นเหตุของไฟฟ้าลัดวงจรส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟเสื่อมสภาพ เนื่องจากมีอายุการใช้งานยาวนาน
แต่ต้นเหตุสำคัญที่หลายคนมักมองข้าม นั่นคือ…การเดินสายไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง
บ้านพักอาศัยที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด คอนโด อพาร์ตเมนต์ รวมไปถึงคฤหาสน์ร้อยล้าน…พันล้าน ล้วนต้องมีการเดินสายไฟ ทว่า…ช่างไฟฟ้าที่มารับจ้างเดินสายไฟจะเป็น “กูรู” หรือเป็นเพียงช่างประเภทครูพักลักจำ ไม่มีใครบอกได้
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 เป็นอีกหนึ่งความพยายามของภาครัฐที่จะปิดช่องโหว่ กำจัดจุดอ่อนปัญหาช่างไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน กำหนดให้ตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2559 เป็นต้นไป “ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร”…ต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ หรือ ไลเซนส์ (License)
หากฝ่าฝืนทำงานโดยไม่มีหนังสือรับรอง มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนนายจ้างที่ฝ่าฝืนว่าจ้างช่างไฟฟ้าภายในอาคารที่ไม่มีหนังสือรับรองเข้าทำงาน จะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาทด้วยเช่นกัน
“รัฐจำเป็นต้องลดความสูญเสียด้วยการเข้าควบคุมสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพหรือแรงงานสาขานั้นๆ ต้องเป็นผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 และมีใบรับรองความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพเสียก่อน…”
กรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) บอกอีกว่า สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคารเป็นอาชีพแรกนำร่อง จากนั้นกรมฯจะพิจารณาสาขาอื่นเพิ่มเติม อาทิ สาขาช่างไฟฟ้าภายนอกอาคาร สาขา ช่างโลจิสติกส์ สาขาช่างเชื่อม ฯลฯ จนครบทุกองค์ประกอบวิชาชีพช่างที่มีอยู่ในประเทศไทย
กรณี “ช่างไฟฟ้า” ภายในอาคารที่ประสงค์จะขอรับหนังสือรับรองความรู้ ความสามารถ จะต้องเข้ารับการทดสอบ เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินเพื่อรับสมุดไลเซนส์ประจำตัว